วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข่าวสารประจำสัปดาห์ที่ 3

ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ E-Journal [Electronic Journal]

แหล่งสารสนเทศเพื่อการศึกษา ค้นคว้าและวิจัย
ฐาน ข้อมูลที่จะกล่าวถึงต่อจากฐานข้อมูลสหบรรณานุกรม คือ ฐานวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันนี้ ห้องสมุดหรือแหล่งบริการสารสนเทศต่างๆ ได้จัดให้บริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตามการจัดหาวารสารก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและงบประมาณด้วย เนื่องจากวารสารอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีราคาค่อนข้างแพง
ดัง นั้น เพื่อให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ขอเชิญทุกท่านหันมาให้วารสารอิเล็กทรอนิกส์กันเยอะๆ นะคะ ใน Blog นี้ได้ให้รายละเอียดเบื้องต้น พร้อมมี Link ไปยังขอบเขตเนื้อหาของวารสารแยกเป็นสาขาต่างๆ พร้อมมีวิธีการใช้งานด้วย ลองเข้าไปศึกษาดูนะคะ แล้วคุณจะรู้ว่าวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ง่าย..... แค่ปลายนิ้วสัมผัส..จริงๆ

3. ฐานวารสารอิเล็กทรอนิกส์
วารสารอิเล็กทรอนิกส์ คือ สื่อรูปแบบหนึ่งที่เผยแพร่เป็นฉบับต่อเนื่องมีกำหนดออกที่แน่นอนและเสนอ ข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย รายงานความก้าวหน้าทางวิชาการ กิจกรรมและผลงานในสาขาวิชาต่างๆ (Hatue, 2000) มีการจัดเก็บ บันทึกและเผยแพร่ในรูปของข้อมูลคอมพิวเตอร์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ผ่องพรรณ แย้มแขไข, 2543) โดยสามารถสืบค้นข้อมูลและสั่งซื้อหรือบอกรับเป็นสมาชิกได้จากฐานข้อมูลซี ดี-รอม ฐานข้อมูลออนไลน์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (สมร ตาระพันธ์, 2543) นอกจากนั้น วารสารอิเล็กทรอนิกส์ยังหมายถึงสิ่งพิมพ์ต่อเนื่องในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่บันทึกด้วยระบบดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ เช่น ซีดีรอม แผ่นบันทึก แถบบันทึก หรือผ่านระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งสามารถเข้าถึงด้วยระบบออนไลน์ทางเวิลด์ไวด์ เว็บหรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ การนำเสนอมีหลายลักษณะ เช่น โดยใช้ภาษาแอสกี (ASCII) ภาษาเอชทีเอ็มแอล (HTML) หรือใช้รูปพีดีเอฟ (PDF) (อังคณา ดอนหัวร่อ, 2547)

ความสำคัญของวารสารอิเล็กทรอนิกส์
วารสารอิเล็กทรอนิกส์มีความสำคัญต่อผู้อ่าน ผู้ผลิต ผู้เขียนและห้องสมุด สรุปได้ดังนี้ (สมาน ลอยฟ้า, 2537)
1. วารสารอิเล็กทรอนิกส์เป็นแหล่งรวบรวมสารสนเทศทุกแขนงที่ทันสมัย และมีความสำคัญต่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัย ซึ่งผู้อ่านสามารถติดตามความรู้ ข่าวสารใหม่ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ได้จากทั้งที่บ้านและที่ทำงาน โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่
2. ผู้ผลิตวารสารสามารถรวบรวม จัดพิมพ์วารสารในเวลาอันรวดเร็ว ช่วยประหยัดงบประมาณ การพิมพ์ ประหยัดกระดาษ และคำนึงถึงผู้อ่านมากขึ้น
3. การบอกรับเป็นสมาชิกวารสารอิเล็กทรอนิกส์ของห้องสมุด ช่วยประหยัดเวลา งบประมาณและการจัดเก็บ เพราะห้องสมุดไม่ต้องเสียพื้นที่จัดเก็บ บำรุงรักษาและนำขึ้นชั้น
4. เพิ่มบทบาทในการรับรองคุณภาพผล งานทางวิชาการ (Certification) โดยบรรณาธิการ คณะกรรมการในการอ่านและพิจารณาความมีคุณค่าทางวิชาการของบทความ (Peer Review)
5. บทบาทในการประชาสัมพันธ์ (Markerting) โดยทำหน้าที่ในการเผยแพร่ เนื้อหาสาระทางวิชาการ ซึ่งวารสารที่มีชื่อเสียงช่วยทำให้บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นที่รู้จัก ในวงกว้างขึ้น
6. บทบาทอื่นๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเวลาในการสื่อสารข้อมูลทางวิชาการ ขยายขอบเขตของการสื่อสารทางวิชาการ และช่วยให้นักวิชาการสามารถสร้างฐานข้อมูลที่มีพลังและความยืดหยุ่นมากขึ้น ตลอดจนเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนข้อมูลซอฟต์แวร์มัลติมีเดียต่างๆ อีกด้วย

ประโยชน์ของวารสารอิเล็กทรอนิกส์
วารสารอิเล็กทรอนิกส์มีประโยชน์พอสรุปได้ดังต่อไปนี้ (สมาน ลอยฟ้า, 2537)
1. เป็นสื่อที่มีความทันสมัย น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้ใช้ ทั้งนี้เนื่องจากวารสาร
อิเล็กทรอนิกส์ เป็นนวัตกรรมที่ได้นำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีโทรคมนาคมเข้ามา ใช้ประโยชน์ ทำให้การจัดพิมพ์วารสารและการเผยแพร่วารสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว
2. มีความสะดวก รวดเร็วและทันต่อความต้องการ โดยสามารถค้นหาวารสาร อ่าน บันทึกหรือพิมพ์ผลข้อมูลได้ โดยผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งแตกต่างจากวารสาร
ฉบับพิมพ์ที่การเข้าใช้ขึ้นอยู่กับเวลาทำการของห้องสมุด
3. วารสารหนึ่งเล่มสามารถใช้ได้พร้อมกันหลายคน โดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา
4. วารสารอิเล็กทรอนิกส์สามารถแสดงผลข้อมูลได้ทั้งรูปภาพ กราฟิก ตารางและมัลติมีเดีย
5. วารสารอิเล็กทรอนิกส์สามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสามารถที่จะคัดลอก ตัดภาพ และจัดส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
6. วารสารอิเล็กทรอนิกส์สามารถเชื่อมโยง (Link) ผู้แต่ง ผู้ผลิต/ตัวแทนขายและ
ผู้อ่านได้ ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นระหว่างกันอย่างรวดเร็ว
7. สามารถเชื่อมโยงไปยังเรื่องที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากบทความ ส่วนใหญ่ที่อยู่ในรูปของ HTML จะมีการเชื่อมโยงลิงค์ (LINK) ไปยังเรื่องที่เกี่ยวข้องในเอกสารอ้างอิงของบทความ และเชื่อมโยงลิงค์ (LINK) ถึงคำสำคัญ หัวเรื่องหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ใช้วารสารสามารถลิงค์ไปยังเรื่องที่สนใจหรือที่เกี่ยวข้องได้อย่าง ต่อเนื่อง
8. สามารถจัดเก็บข้อมูล สร้างแฟ้มส่วนตัว จัดเก็บประวัติการค้น มีระบบการแจ้งเตือน สามารถฝากคำค้น เพื่อให้ระบบทำการค้นหาข้อมูลและจัดส่งข้อมูลให้ตามคำขอ
9. ช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ เพราะต้องการเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ หรือแผ่นบันทึกรูปแบบต่างๆ ในการจัดเก็บ
10. ประหยัดเวลาและลดจำนวนบุคลากรในการจัดเก็บวารสารขึ้นชั้นและเย็บเล่ม ตลอดจนไม่ต้องเสียพื้นที่ในการจัดเก็บ ไม่ต้องบำรุงรักษา
11. ช่วยในการจัดเก็บสถิติการใช้วารสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
12. วารสารอิเล็กทรอนิกส์แต่ละฐานจะมีคู่มือและแนะนำวิธีการใช้ ซึ่งผู้ใช้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

ข้อจำกัดของวารสารอิเล็กทรอนิกส์
1. การใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางด้านคอมพิวเตอร์
2. การใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์ผู้ใช้ต้องมีพื้นฐานและทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ ตลอดจนรู้เทคนิคในการสืบค้น
3. วารสารอิเล็กทรอนิกส์ยังประสบปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ในการใช้ เช่น เมื่อผู้ใช้ต้องการทำสำเนาหรือสั่งพิมพ์ผลข้อมูลเป็นจำนวนมากๆ หรือดาวน์โหลดข้อมูลด้วยโปรแกรมจะถูกแจ้งเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์ จากบริษัทผู้ผลิต ซึ่งสถาบันที่บอกรับฐานข้อมูลอาจได้รับผลกระทบคือจะถูกระงับการเข้าใช้ฐาน ข้อมูลชั่วคราว และปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์อีกประการหนึ่งคือ ทั้งสำนักพิมพ์และผู้เขียนต่างไม่เชื่อมั่นในมาตรฐานทางลิขสิทธิ์ เนื่องจากการเข้าใช้ฐานข้อมูล ผู้ใช้สามารถบันทึกหรือพิมพ์ผลข้อมูลได้ ซึ่งจำนวนสำเนาที่บันทึกหรือพิมพ์ผลไป อาจนำไปจำหน่ายต่อไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าได้
4. การเขียนบทความลงในวารสารอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีขั้นตอนที่ต้องเรียนรู้และยังไม่เป็นที่แพร่หลาย
5. ผู้อ่านส่วนใหญ่คุ้นเคยกับลักษณะทางกายภาพของวารสารฉบับพิมพ์ ที่สามารถจับต้องได้กำหนดที่จัดเก็บได้ มากกว่าวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องเรียกใช้จากเครื่องคอมพิวเตอร์
6. การให้บริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์ อาจเกิดความล้มเหลวของระบบ (System failure) หรือปัญหาขัดข้องทางด้านเทคนิค เช่น ระบบเครือข่ายขัดข้อง ปัญหาฐานข้อมูลขัดข้อง ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถค้นข้อมูลได้ในเวลาที่ต้องการ

การส่งเสริมการใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (วิลาวัณย์ โต๊ะเอี่ยม และคณะ, 2550)
การ ให้บริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้บริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอิน เทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากหน่วยงาน/ภาควิชา/คณะ/ห้องสมุด ผู้ใช้สามารถเข้าใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านหน้าโฮมเพจของหอสมุดกลาง http://library.kku.ac.th หรือเว็บไซต์ของฐานข้อมูลที่ห้องสมุดบอกรับโดยตรง ส่วนการสืบค้นนอกระบบเครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้อง Login ผ่านระบบ SSL VPN โดยใช้ User Name และ Password เดียวกับระบบ Web-Mail ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งศูนย์คอมพิวเตอร์เป็นผู้กำหนดให้กับผู้ใช้ เพื่อตรวจสอบสิทธิ์ก่อนเข้าใช้บริการ ทั้งนี้นักศึกษาสามารถลงทะเบียนสมัคร เป็นสมาชิก KKU NET ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ได้ Username และ Password ดังกล่าว เพื่อใช้ในการ Login เข้าสู่ระบบได้ที่ http://202.12.97.2/account/
นอกจากนี้ยังจัดทำเครื่องมือช่วยค้นคว้า รวบรวมชี้แหล่งสารสนเทศในรูปแบบ คู่มือ เอกสาร แผ่นพับแนะนำการใช้ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแนะนำวิธีการเข้าใช้ฐานข้อมูล จัดอบรมแนะนำวิธีการใช้ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ให้กับนักศึกษาและ บุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกระดับทั้งปี ตลอดจนบริการแก่ชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ และทำให้ผู้ใช้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาที่ห้องสมุด ก็สามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และทันต่อความต้องการ [ดูรายชื่อฐานข้อมูล/ขอบเขตและวิธีค้นหาฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น]

ด้านการประชาสัมพันธ์
1. ประชาสัมพันธ์ในช่วงที่มีการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ (ระดับบัณฑิตศึกษา)
2. ประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์
3. ประชาสัมพันธ์ผ่านทางคณะ/หน่วยงาน/ภาค โดยทำเป็นหนังสือเชิญชวนเข้าอบรมการใช้ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ เลือกเข้ารับการอบรมได้ทั้งที่หอสมุดกลาง หรือที่คณะ/หน่วยงาน
4. ประชาสัมพันธ์ผ่านข่าวสำนักวิทยบริการ ส่งไปยังคณะ/หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น
5. ประชาสัมพันธ์ผ่านงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
6. ประชาสัมพันธ์ผ่านบัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งได้จัดโครงการแหล่งสารสนเทศเพื่อการค้นคว้าและวิจัย ให้กับนักศึกษา ระดับบัณฑิตทุกปี

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันการใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในบางสาขายังมีการใช้น้อยมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะข้อจำกัดของวารสารที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ตลอดจนวารสารอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ที่จัดให้บริการนั้นเป็นวารสารภาษาต่าง ประเทศทำให้ผู้ใช้ไม่ค่อยสนใจ ที่จะศึกษาและใช้เป็นแหล่งค้นคว้า วิจัย
และจากประสบการณ์ยังพบอีกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใช้ไม่รู้ว่ามีฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์, ไม่รู้ วิธีการใช้งาน สืบค้นไม่เป็น หรือเป็นเพราะพฤติกรรมของผู้ใช้เองที่ หากอาจารย์ผู้สอนไม่มอบหมายให้ทำงานส่งก็ไม่สนใจ ดังนั้นผู้สอนควรช่วยกันกระตุ้น ชี้แนะ หรือให้งานกับนักศึกษา โดยระบุให้ค้นคว้าจากวารสารอิเล็กทรอนิกส์หรือฐานข้อมูลออนไลน์อื่นๆ นักศึกษาจึงจะให้ความสนใจที่จะเข้าศึกษา ค้นคว้า
นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการเข้าถึงยาก ระบบขัดข้องบ่อยและล่าช้า บทความหรือวารสารที่ต้องการไม่มีหรือมีแต่ไม่ได้เอกสารฉบับเต็ม เป็นต้น

ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้ทดลองใช้ฟรี
นอก จากนี้ ห้องสมุดยังจัดให้บริการฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ทดลองใช้ฟรี ด้วย เนื่องมีบริษัทหรือตัวแทนจำหน่ายได้เสนอฐานข้อมูลให้บุคลากรมข. เข้าใช้ฐานข้อมูล ซึ่งบางฐานได้อนุญาติให้กับบุคคลภายนอกให้สามารถเข้าใช้ได้ด้วย ลองเข้าไปทดลองใช้ดูนะคะ เพราะฐานข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน วิชาการอย่างมาก
1. ฐานข้อมูล

เอกสารอ้างอิง
ผ่องพรรณ แย้มแขไข. 2544. บริการอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ = Electronic
services in Chiang Mai University Library. วารสารสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,
8 (ฉบับห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์), 45-55.
วิลาวัณย์ โต๊ะเอี่ยม, สิริพร ทิวะสิงห์ และยุวดี มโนมยิทธิกาญจน์. 2550. การศึกษาการใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์
ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น. สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
วิลาวัณย์ โต๊ะเอี่ยม. เอกสารแนะนำทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักวิทยบริการ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2550. (เอกสารอัดสำเนา)
สมร ตาระพันธ์. 2543. วารสารอิเล็กทรอนิกส์:รูปแบบใหม่ของวารสาร. บรรณารักษศาสตร์และ
สารนิเทศศาสตร์ มข., 18(2), 20-32.
สมาน ลอยฟ้า. 2537. วารสารอิเล็กทรอนิกส์. บรรณารักษศาสตร์ มข., 12(3), 40-54.
อังคณา ดอนหัวร่อ. 2543.วารสารอิเล็กทรอนิกส์:การวิเคราะห์เพื่อการบอกรับ.
มนุษยศาสตร์ปริทรรศน์. (22), 74-85.
อัมพร ขาวบาง. 2547. การใช้วาสารอิเล็กทรอนิกส์ของอาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล. ปริญญานิพนธ์วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.)
สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
SSL VPN. ศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ค้นเมื่อ 1 เมษายน 2550 http://www.kku.ac.th/vpn/
Hatua, Sudip Ranjan. 2000. E-Journal. retreived on 22 Nov 2006 from
http://www.geocities.com/sudiphatua/ejn.html.

แหล่งที่มา : http://gotoknow.org/blog/formal1/123521

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข่าวสารประจำสัปดาห์ที่ 1

วารสารอิเล็กทรอนิกส์ คือ วารสารทางวิชาการที่ผลิตและเผยแพร่สู่ ผู้ใช้โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นวารสารที่ห้องสมุดบอกรับโดยเสียค่าบริการเพื่อให้ผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้สามารถเข้าถึงสารนิเทศได้รวดเร็วในเวลาเดียวกันหลายคน โดยไม่จำกัดเวลา และสถานที่ สามารถจัดหาได้เมื่อต้องการ ( Acquisition on Demand) และมีบริการจัดส่งบทความ (Document Delivery) เมื่อมีผู้ต้องการสั่งซื้อทาง E - mail หรือ Fax หรืออื่นๆได้ตามต้องการ วารสาอิเล็กทรอนิกส์เป็นพัฒนาการของวารสารที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน
ข้อดี
1. ผู้ใช้สามารถติดตามอ่านวารสารได้อย่างรวดเร็ว ทันทีที่วารสารมีการจัดพิมพ์ เนื่องจาก
สำนักพิมพ์จัดพิมพ์แบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้เผยแพร่สู่ผู้อ่านได้อย่างรวดเร็ว
2. ผู้อ่านสามารถเข้าถึงวารสารได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยไม่จำกัดเวลา โอกาส และ
สถานที่
3. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเย็บเล่มวารสาร การเสียแรงงานบุคลากรในการเตรียมวารสาร
ก่อนส่งเย็บเล่มและหลังการเย็บเล่ม
4. ช่วยแก้ปัญหาการได้รับวารสารไม่ครบ วารสารถูกฉีกขาด
5. ช่วยแก้ปัญหาสถานที่เก็บ ไม่มีปัญหาการเพิ่มน้ำหนักพื้นที่ของห้องสมุด

ข้อจำกัด
1. ค่าใช้จ่ายในการบอกรับ แต่ละสำนักพิมพ์จะกำหนดค่าบอกรับแตกต่างกัน เช่น บาง
สำนักพิมพ์เมื่อบอกรับวารสารฉบับพิมพ์จะให้สิทธิ์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ บางสำนักพิมพ์แยกราคากันระหว่างฉบับพิมพ์กับวารสารอิเล็กทรอนิกส์
2. ลิขสิทธิ์ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ชัดเจนเช่นกฎหมายลิขสิทธิ์ของสิ่งพิมพ์
3. วารสารย้อนหลัง การจัดเก็บวารสารอิเล็กทรอนิกส์ฉบับย้อนหลังยังไม่มีรูปแบบที่
ชัดเจน ห้องสมุดที่บอกรับหารูปแบบ วิธีการจัดเก็บเอง หรือบริษัทเป็นผู้จัดทำ
4. การเข้าถึงวารสารอิเล็กทรอนิกส็ ปัญหาสำคัญประการหนึ่งก็คือ ความล่าช้าของเครือข่าย
คอมพิวเตอร์ บรรณารักษ์และผู้ใช้ขาดความเข้าใจในวิธีการสืบค้นข้อมูล ตลอดจนปัญหาของข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน
King (1991 : 5-6) กล่าวว่า ประมาณปี 2006 จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากในการสืบค้น
ข้อมูล ตลอดจนการนำส่งข้อมูลเข้าห้องสมุด ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ยังคงมีใช้อยู่ แต่จะมีบทบาทที่แตกต่างไป โดยความคิดนี้ตรงกับความเห็นของ McKnight (1993 : 9) และ Piternick (1989 b : 96) ที่กล่าวว่า วารสารในรูปแบบสิ่งพิมพ์จะมีการใช้ต่อไป ในขณะที่การใช้วารสารอิเล็กทรอนิคส์จะเป็นเสมือนเส้นขนานมากกว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่ นักวิชาการและนักวิจัยจะใช้เวลาเล็กน้อยในห้องสมุด เพราะสามารถสืบค้นข้อมูลได้จากคอมพิวเตอร์ หรือจาก Workstation จากที่ห่างไกลได้


วราภรณ์ แดงช่วง. รูปแบบของวารสาร คุณค่าที่ต้องทบทวน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา :
http://www.school.net.th/library/create-web/10000/generality/10000-12235.html. 2553.